สศก. Kick off เมืองนนท์ ชี้แจงแนวทางประเมินผลโครงการจังหวัด เร่งขับเคลื่อนไทยนิยม ของ กษ.

ข่าวที่ 59/2561  วันที่ 30 พฤษภาคม  2561
สศก. Kick off เมืองนนท์ ชี้แจงแนวทางประเมินผลโครงการจังหวัด เร่งขับเคลื่อนไทยนิยม ของ กษ.
          สศก. คิกออฟ เปิดประชุมชี้แจงแนวทาง และแผนติดตามประเมินผลโครงการขับเคลื่อนไทยนิยม นำร่อง นนทบุรีแห่งแรก   แจงแนวทางประเมิน 8 โครงการของจังหวัด พร้อมลงพื้นที่จริง ณ วัดตาล  ตามโครงการจ้างแรงงานฯ และ ศูนย์ศรียวง ตามโครงการเพิ่มทักษะอาชีพฯ พร้อมเดินหน้าเตรียมจัดทีมติดตามทั่วประเทศ  ขับเคลื่อนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อปฏิรูปภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร 
          นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 ของจังหวัดนนทบุรี  ณ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนทั้ง 8 โครงการของจังหวัด   ซึ่งประกอบด้วย 1) โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กษ.นนทบุรี)   2) โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน จำนวน 16 จุด (ชลประทาน)   3) โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ชลประทาน) 4) โครงการศูนย์ขยายพันธุ์และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์ (ปศุสัตว์)  5) โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร (เกษตรจังหวัดนนทบุรี) 6) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ (เกษตรจังหวัดนนทุรี)  7) โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร (อุตสาหกรรมจังหวัด) และ 8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป (อุตสาหกรรมจังหวัด)
            ภายหลังการประชุม เลขาธิการ สศก. และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ 2 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ณ วัดตาล หมู่ที่1 ตำบลบางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ดำเนินการตามโครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้เกษตรกร โดยเป็นจุดรับสมัครเกษตรกร จ้างแรงงานในการก่อสร้างและบำรุงรักษา เช่น งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ งามซ่อมแซม งานปรับปรุงโครงการชลประทาน และงานกำจัดวัชพืช เป็นต้น โดยเกษตรกรที่จะสมัครต้อง เป็นเกษตรกรในพื้นที่ และเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ เพื่อการจัดการอาชีพเสริมนอกฤดูการผลิต  ส่วนจุดที่ 2 ณ ศูนย์ศรียวง ตั้งอยู่เลขที่ 91/1 หมู่ 7 ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี  ดำเนินการตามโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพ ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและศูนย์เครือข่ายอื่นๆ ซึ่งมีนายยวง เขียวนิล ปราชญ์ชาวบ้าน         ผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ ตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม มีหลักสูตรที่จัดฝึกอบรม ได้แก่ การปรับปรุงบำรุงดิน เทคนิคการขยายพันธุ์พืช การนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ การทำนํ้าส้มควันไม้ การทำเตาเผาถ่านชีวมวล การปลูกพืชไฮโดรโปรนิกส์ การทำบัญชีครัวเรือน สมุนไพรใกล้ตัว การทำนํ้ายาเอนกประสงค์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีสถานที่ฝึกอบรมที่สามารถรองรับได้ประมาณ 50 คน มีฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติจริง ทั้งนี้ ศูนย์ศรียวง ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฏีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2551
            ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวม 22 โครงการ จำนวน 24,993 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 แผนงานคือ  1) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ วงเงิน 24,300 ล้านบาท  แบ่งเป็น การดำเนินงานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  23,796 ล้านบาท (17 โครงการ) กระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 498 ล้านบาท (2 โครงการ) และดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 6 ล้านบาท  (1 โครงการ)  และ 2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ โดยเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 693 ล้านบาท (2 โครงการ)
           สำหรับการดำเนินโครงการทั้ง 22 โครงการ สศก. ได้รับมอบหมายเป็นผู้ติดตามประเมินผล ซึ่งการประชุมในครั้งนี้  เป็นการนำร่องจังหวัดนนทบุรีแห่งแรก เพื่อชี้แจงให้หน่วยงานในพื้นที่ได้รับทราบถึงแนวทางการติดตามประเมินโครงการ และในวันที่ 3 - 4  มิถุนายน สศก. จะจัดสัมมนาแนวทางการติดตามประเมินผลแผนงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ให้แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องรวม 19 หน่วยงาน   ณ โรงแรมบ้านอัมพวา  รีสอร์ท  แอนด์ สปา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเชื่อมั่นว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวทั้ง 22 โครงการทั่วประเทศ จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 4.3 ล้านราย สามารถสร้างอาชีพใหม่ เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจภาพรวม โดยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 63,599 ล้านบาท และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น  35,304 ล้านบาท/ปี
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล